6 รูปแบบการจัดงานสัมมนา

  • 6 รูปแบบการจัดงานสัมมนา 6 รูปแบบการจัดงานสัมมนา
    การสัมมนา คือ การประชุมกลุ่มบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และความสนใจประสบการณ์ในงานวิชาชีพเดียวกัน หรือ วัตถุประสงค์เดียวกัน เพื่อการศึกษาค้นคว้าเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกัน หรือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
     
    การจัดสัมมนาให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้จัดงานต้องสามารถกำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดสัมมนาให้ได้ว่าคืออะไร การเลือกรูปแบบการสัมมนาให้เหมาะสมจึงถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้จัดงานสามารถตั้งเป้าหมายได้แม่นยำยิ่งขึ้น
     
    รูปแบบการจัดงานสัมมนานั้นมี 6 รูปแบบ ดังนี้
    1. การอภิปรายแบบคณะ (Panel Discussion) เป็นการสัมมนาเชิงอภิปรายเนื้อหา โดยจะมีคณะผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ความรู้ในหัวข้อนั้น ๆ ประมาณ 3-8 คน โดยจะเป็นการอภิปรายในเชิงลึกให้ความคิดเห็น ข้อมูลเท็จจริง ความรู้ความเข้าใจ มุมมองและความรู้ที่แตกต่างลึกซึ้งแตกต่างกันไป ซึ่งจะทำให้ผู้ร่วมสัมมนาได้รับความรู้ ข้อคิดเห็นที่แตกต่าง ได้แนวความคิดหลากหลาย และมีหลายแง่มุมในเรื่องเดียวกัน
     
    2. การสัมมนาในแบบซิมโพเซี่ยม (Symposium) เป็นการสัมมนาการประชุมเชิงวิชาการ บรรยากาศอภิปรายจะแบบเป็นทางการ มีวิทยากร 2-6 คน ซึ่งจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อนั้น ๆ ซึ่งผู้อภิปรายจะเตรียมความรู้ในส่วนของตนที่รับผิดชอบตอนใดตอนหนึ่งที่ตนได้รับมอบหมาย ซึ่งการบรรยายในการอภิปรายแบบนี้วิทยากรจะไม่ก้าวก่ายหรือซ้ำซ้อนกับหัวข้อของวิทยากรท่านอื่น โดยวิทยากรแต่ละท่านต้องเสนอแนวคิดที่ตรงประเด็นเป้าหมายให้มากที่สุด โดยแต่ละท่านจะใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที ซึ่งจะทำให้ผู้ร่วมสัมมนาได้รับความรู้แบบแน่น ๆในเชิงลึกของหัวข้อนั้น ๆ
     
    3. การสัมมนารูปแบบอภิปรายระดมความคิด (Brain Storming) เป็นรูปแบบการสัมมนาที่ต้องการการอภิปราย โดยผู้เข้าร่วมสัมนาสามารถออกความคิดเห็นร่วมกันได้ โดยจะจัดเป็นกิจกรรมกลุ่มที่มีผู้ร่วมอภิปราย 5-15 คน เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และเกิดบทสรุปตามหัวข้อและเนื้อหาที่กำหนด โดยการดำเนินการอภิปรายจะมีผู้นำเป็นประธานกลุ่ม มีเลขานุการกลุ่มจดบันทึกการประชุมอยู่ด้วย ซึ่งงานประเภทนี้จะทำให้ผู้ร่วมงานได้มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระและเต็มที่ แถมยังสร้างการสื่อสารและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ร่วมงานอีกด้วย
     
    4. การสัมมนาอภิปรายโดยการสวมบทบาทสมมุติ (Role Playing) เป็นการกำหนดเหตุการณ์ โดยผู้จัดการสัมมนาให้ผู้เข้าสัมมนาได้สวมบทบาทต่าง ๆ และแสดงความคิดเห็นความรู้สึกได้ตามบทบาทสมมุติที่ตนเองเล่นอยู่นั้น เช่น วิธีการติดต่อธุรกิจทางโทรศัพท์ วิธีการเข้าร่วมสัมภาษณ์ทำงาน เป็นต้น ผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้ใส่หัวใจและเรียนรู้เข้าใจในความรู้สึกความคิดเห็นของบทบาทที่สวมอยู่ เกิดเป็นประสบการณ์ใหม่และความคิดความเข้าใจใหม่ ๆ อย่างลึกซึ้ง
     
    5. การอภิปรายแบบถาม-ตอบ (Dialogue) เป็นการประชุมสัมมนาแบบกลุ่มประมาณ 8-15 คน จัดสถานที่สัมมนาให้เป็นโต๊ะกลมที่ทุกคนหันหน้าเข้าหากัน จะมีประธานการสัมมนาเป็นผู้เสนอหัวข้อ เนื้อหาและปัญหาให้รับฟังร่วมกัน จากนั้นเริ่มอภิปรายโดยคนที่อยู่ถัดจากประธานอภิปรายตามความคิดความต้องการของตนเองเกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าว แล้วเรียงกันไปทางขวามือพูดทีละคนจนครบทุกคน ซึ่งการจัดงานแบบนี้จะทำให้ผู้ร่วมงานแสดงความคิดเห็น แนวคิด การวิเคราะห์ได้อย่างเต็มที่
     
    6. การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เป็นวิธีการประชุมที่ต้องการให้สมาชิกได้รับความรู้ในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งการจัดสัมมนาประเภทนี้จะเน้นให้ผู้ร่วมงานนำเอาความรู้ไปใช้มากกว่าการฟัง เกิดประโยชน์และใช้ได้จริงในสายอาชีพ เช่น การสัมมนาเรื่องวิธีการใช้ระบบลงทะเบียนหรือเรียนรู้การสร้าง QR Code นอกจากจะฟังบรรยายแล้วจะผู้ร่วมงานต้องทำกิจกรรม Workshop เพื่อให้สามารถสร้างแบบฟอร์มการลงทะเบียนและสร้าง QR Code ได้ด้วยตนเอง เป็นต้น
     
    ขอบคุณที่มาโดย Eventpass Insight
    ขอบคุณภาพโดย ICSA จาก Pexels
     
    อ้างอิงเนื้อหา และรูปภาพจาก
    https://www.thailandmice.com/article/1673/6?section=Advertorials
    • Admin
    • พุธที่ 12 พฤษภาคม 2564
    • 1 Views